ศูนย์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง Leibniz (LRZ) แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์บาวาเรีย ได้ลงนามความร่วมมือกับ Hewlett Packard Enterprise (HPE) ในการสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ในชื่อ “Blue Lion” เพื่อตอบสนองความต้องการทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยขั้นสูง โดยโครงการนี้มีค่าใช้จ่ายรวมกว่า 250 ล้านยูโร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการและวิจัยแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (BMBF) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งรัฐบาวาเรีย (StMWK)
ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ “Blue Lion” จะเริ่มให้บริการในปี 2027 โดยมีบทบาทสำคัญทั้งในระดับรัฐและระดับชาติ ผ่านการสนับสนุนโครงการวิจัยที่ล้ำสมัยในบาวาเรีย และในฐานะส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐาน HPC แห่งชาติของเยอรมนี ภายใต้ศูนย์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง Gauss Center for Supercomputing (GCS) ระบบนี้จะรองรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายและมีความสำคัญ
“Blue Lion” ได้รับการออกแบบมาให้รองรับการผสมผสานการทำงานแบบคลาสสิก เช่น การจำลองแบบและการสร้างโมเดล เข้ากับวิธีการของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถสร้างโมเดลจำลองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษากระแสน้ำ การเกิดความปั่นป่วน หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ระบบนี้ช่วยให้การคำนวณสถานการณ์ซับซ้อนเกิดขึ้นได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น พร้อมกับเพิ่มความสามารถในการประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อนมากขึ้น
Blue Lion ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยจาก HPE Cray พร้อมตัวเร่งการประมวลผลและโปรเซสเซอร์รุ่นล่าสุดจาก NVIDIA ระบบยังเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยประมวลผลและหน่วยจัดเก็บข้อมูลได้อย่างรวดเร็วด้วย HPE Slingshot ซึ่งรองรับการถ่ายโอนข้อมูลที่ความเร็ว 400 กิกะบิตต่อวินาที และมีเครื่องมือบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่าง HPE Performance Cluster Management เพื่อให้การดูแลระบบขนาดใหญ่เป็นไปอย่างราบรื่น
ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดนี้ “Blue Lion” จะสามารถเพิ่มพลังการประมวลผลได้มากกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นปัจจุบันของ LRZ อย่าง SuperMUC-NG ถึง 30 เท่า ช่วยเสริมศักยภาพของนักวิจัยและผลักดันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น